“ผางประทีป หรือ ผางผะทีด”
ผางผะทีด คือ ถ้วยประทีปหรือถ้วยเล็กๆ ที่ทำด้วยดินเผา รูปลักษณะแตกต่างกันตามฝีมือและศิลปะของช่างปั้นในแต่ละยุคสมัยซึ่งอาจใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ในสมัยโบราณเวลามีงานประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ ที่จัดในตอนตอนกลางคืนมักจะใช้ผางผะตีดจุดให้แสงสว่าง
เชื้อเพลิงและไส้ผางผะตีด
ตั้งแต่โบราณ คนไทยนิยมใช้น้ำมันที่ได้จากพืชและสัตว์มาทำเป็นเชื้อเพลิงจุดผางผะทีด หรือโคมไฟอื่นๆ น้ำมันจากพืชมีหลายชนิดประกอบด้วย น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่ว น้ำมันงา น้ำมันจากหมากหุ่งลาว หรือละหุ่ง น้ำมันยางและชัน น้ำมันที่ได้จากไขสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู และไก่ เป็นต้น น้ำมันเหล่านนี้นำมาใส่ภาชนะถ้วยชามหรือผางผะทีด ใช้ด้ายขวั้นหรือฝั้นเป็นลักษณะตีนกาใส่ลงในภาชนะนั้น แล้วจุดไฟที่ด้ายซึ่งมีเปียกชุ่มไปด้วยน้ำมันก็จะเป็นเชื้อเพลิงลุกไหม้ให้แสงสว่างจนเชื้อเพลิงหมด
ความเชื่อเรื่องตีนกา
มีเรื่องเล่าว่านางกาเผือกมีไข่ ๕ ฟอง ถูกลมพายุพัดหอบไปตกในสถานที่ต่างๆ และมีสัตว์ ๕ ชนิด คือ ไก่ ราชสีห์ เต่า วัว และนาค เก็บรักษาไว้ จึงเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ และพระพุทธเจ้าพระนามว่าอริยเมตไตรย เพื่อให้ชาวพุทธได้ระลึกถึงแม่กาเผือกซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดพระมหาบุรุษของโลก ความเชื่อของชาวล้านนาเวลาจุดบูชาผางผะทีด จึงฝั้นด้ายเป็นลักษณะคล้ายตีนกาวางไว้ในภาชนะแล้วใส่น้ำมันจุดบูชาเป็นการระลึกถึงและกตัญญูกตเวทิตาแก่แม่กา
แหล่งอ้างอิง
มณี พยอมยงค์ และศิริรัตน์ อาศนะ. ๒๕๔๙. เครื่องสักการะในล้านนาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.