ชุพระธาตุตามคติชาวล้านนา

ชุพระธาตุตามคติชาวล้านนา

        ตามคติความเชื่อความศรัทธาเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจวิเศษของวัตถุธาตุ มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ทุกเชื้อชาติ จะมีศาสนายึดถือหรือไม่มีศาสนาก็ตาม เป็นเรื่องราวที่กล่าวขานกันมาเนิ่นนานแล้ว ซึ่งมีคติความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น การนำเอาวัตถุธาตุตามธรรมชาติ กระดูก ไม้มงคล มาเป็นเครื่องลางติดตัว หรือ ตั้งไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้ของตนเอง ครอบครัว ท้องถิ่น เป็นต้น

สำหรับความเชื่อในเรื่องราวของพระบรมสารีริกธาตุ(พระอัฐฐิของพระพุทธเจ้าและพระสาวกรวมถึงพระอริยสงฆ์) การเคารพบูชาพระธาตุ เนื่องจากพุทธศาสนิกชนมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดถึงพระอริยสาวก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระองค์ไม่ทรงตั้งศาสดาแทน พระองค์ตรัสให้เหล่าพุทธบริษัท ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยึดพระธรรมวินัย เป็นศาสดาแทนพระองค์ หากจะแสวงหาสิ่งภายนอกไว้เป็นเครื่องสักการะบูชา ให้เหล่าบริษัทได้นึกถึงสังเวชนียสถาน ๔ แห่งเป็นที่บูชาและระลึกถึงพระพุทธเจ้า

เมื่อกาลเวลาล่วงไปพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความสรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงส่งพระสมณฑูต ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วโลก ๙ สาย และมีการพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในพระสถูปเจดีย์ยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย

การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในล้านนา (ชาวล้านนาเรียกว่า “ธาตุ”) พระสุมณเถร พระภิกษุจากเมืองสุโขทัย เดินทางมาตามคำกราบอาราธนาของพระเจ้ากือนา กษัตริย์เชียงใหม่ พระองค์ทรงสร้างเจดีย์ไว้เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดบุปผาราม(สวนดอก) และวัดพระธาตุดอยสุเทพ ไว้ในพระเจดีย์ทั้งสองแห่ง ถ้าจะกล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุผู้เขียนเคยได้ฟังเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ ว่าในอดีตเมื่อถึงวันเดือนดับเดือนเป็ง(เพ็ญ) จะมีดวงแก้วสีเขียวบ้าง ขาวบ้าง เหลืองบ้าง แสดงปาฎิหารเปล่งแสงเป็นดวงสี ลอยล่องในอากาศ ผู้ที่พบเห็นจะยกมือไหว้และบอกให้ลูกหลานที่เห็นว่าเป็นของดีของวิเศษ หรือก็บอกว่า “พระธาตุออกแอ่วบ้าง พระธาตุเสด็จบ้าง”

ชาวล้านนาในอดีตได้สร้างค่านิยมและคตินิยมในการนับถือกราบไหว้พระธาตุประจำเมือง เช่น จังหวัดลำพูน ไปนมัสการ พระธาตุหริภุญชัย เป็นต้น สมัยต่อมาได้เปลี่ยนให้พุทธศาสนิกชนไป “ชุธาตุ” เพราะชาวล้านนามีความเชื่อว่าก่อนที่มนุษย์จะมาเกิดวิญญาณจะมาชุอยู่ที่พระธาตุสำคัญประจำเมืองต่างๆ  (“ชุ” หมายถึง ตั้ง, วาง, รวม, สุม, ประชุม) ดังนั้น คำว่า “ชุธาตุ” คือ การกราบไหว้บูชาเป็นที่พึ่งพาของตน และจะต้องไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน ตามคติชาวล้านนาถือว่าการบูชาพระธาตุประจำปีเกิดจะทำให้ความเป็นศิริมงคลบังเกิดแก่ผู้สักการบูชา พระธาตุปีเกิดของชาวล้านนาจะมีความแตกต่างไปตามปีนักษัตร(ตัวเปิ้ง) ดังนี้

ปีใจ้ (เปิ้งหนู) ไหว้พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่

ที่มา www.teeteawthai.com

ปีเป้า (เปิ้งวัว)  ไหว้พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

ที่มา www.lampangcenter.com

ปียี (เปิ้งเสือ) ไหว้พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

ที่มา www.phrae.go.th

ปีเหม้า (เปิ้งกระต่าย) ไหว้พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

ที่มา www.manager.co.th

ปีสี (งูใหญ่) ไหว้พระธาตุพระสิงห์ จ.เชียงใหม่

ที่มา www.gerryganttphotography.com

ปีใส้ (งูเล็ก) ไหว้เจดีย์พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย แต่สามารถไหว้เจดีย์วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ แทนได้

ที่มา www.bloggang.com

ปีสง้า (เปิ้งม้า) ไหว้พระธาตุชเวดากอง ประเทศพม่า

ที่มา www.dmc.tv

ปีเม็ด (เปิ้งแพะ) ไหว้พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

ที่มา www.powertravels.com

ปีสัน (เปิ้งวอก) ไหว้พระธาตุพนม จ.นครพนม

ที่มา www.thatphanomriverviewhotel.com

ปีเล้า (เปิ้งไก่) ไหว้พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน

ที่มา www.dhammathai.org

ปีเส็ด เปิ้งสุนัข) ไหว้พระธาตุอินทร์แขวน ประเทศพม่า

ที่มา www.modernpublishing.co.th

ปีใก๊ (เปิ้งหมู – ช้าง) ไหว้พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย

ที่มา www.nextsteptv.com

 

อนุชิต   ณ สิงห์ทร นักวิชาการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม เขียน

Loading