สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดตัว วารสารข่วงผญา The Journal of Thai Lanna Wisdom ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการรายปี (ปีละ ๑ ฉบับ) เดือนมกราคม ถึง เดือนกันยายน) วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ ความคิด ทัศนะ และนำเสนอข้อค้นจากการศึกษาและวิจัยด้านศิลปวัมนธรรม อาทิ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา วัฒนธรรมศึกษา การจัดการทางวัฒนธรรม ศาสนา ภาษาและวรรณกรรม ดนตรีและการแสดง เป็นต้น ซึ่งบทความหรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในวารสาร ได้ผ่านการกลั่นกรองคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องและได้รับความเห็นชอบจากกองบรรณาธิการ
วารสารข่วงผญา ฉบับนี้ เป็นปีที่ ๑๓ ได้เผยแพร่บทความของนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม จำนวน ๕ บทความด้วยกัน ซึ่งมีสาระสำคัญในประเด็นที่หลากหลาย คือ
“ชาวเชียงแสนย้ายแผ่นดิน” โดย อาจารย์ภูเดช แสนสา อาจารย์ประจำโครงการอบรมมัคคุเทศก์ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก อาจารย์สอนเสริม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เนื้อหาเกี่ยวกับ ชาวเชียงแสนและหัวเมืองบริวารที่ได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานตามแหล่งต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศไทยและประเทศลาว
“คัมภีร์พิณ ดนตรีแห่งลมปราณและจิตวิญญาณ” โดย ดร. อัญชลี กิ๊บบินส์ นักวิชาการอิสระ เนื้อหาเกี่ยวกับ เครื่องสายพิณโบราณของจีนสองชนิด คือ พิณจีนโบราณเจ็ดสาย ที่ชื่อ กู่ฉิน ในภาษาแมนดาริน และพิณจีนโบราณยี่สิบเอ็ดสาย ที่ชื่อว่า กู่เจิง ในภาษาแมนดาริน
“ส่วยหยิ่นจ่อ” รอยสักยาแดง โดย นางชวนพิศ นภตาศัย นักวิชาการอิสระ เนื้อหาเกี่ยวกับ การสักส่วยหยิ่นจ่อ หรือ สักยาแดง เป็นความเชื่อของพม่า เชื่อว่าเป็นการช่วยปกป้องพระพุทธศาสนา
“หลักฐานเกี่ยวกับวัฒนธรรมศรีวิชัย ในคาบสมุทรภาคใต้” โดย นายลักษมณ์ บุญเรือง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี กรมศิลปากร เนื้อหาเกี่ยวกับ วัฒนธรรมศรีวิชัย อันเป็นวัฒนธรรมแรกเริ่มในสมัยประวัติศาสตร์ที่พบในเขตคาบสมุทรมลายู
“ปะโอ ข้ามแดนในเมืองเชียงใหม่” โดย อาจารย์สุนทร คำยอด อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และอาจารย์สุทธิพงศ์ พัฒนวิบูลย์ กองการศึกษาเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง เนื้อหาเกี่ยวกับ การข้ามแดนของกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอในเมืองเชียงใหม่
ทั้งนี้นักอ่านท่านใดสนใจจะวารสารฉบับนี้ สามารถเข้าไปอ่านได้ฟรี ที่ห้องศูนย์ข้อมูลภูมิปัญญาล้านนา ชั้น ๑ อาคารเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นอกจากนี้สามารถอ่านทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม www.culture.cmru.ac.th ทั้งนี้หากต้องการเก็บไว้อ่านในรูปแบบออฟไลน์ ซึ่งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้มีไอคอนในการให้บริการผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เก็บไว้อ่านได้เองอีกด้วย