ชาติพันธุ์ในล้านนา
การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์
๑. กลุ่มภาษา
๑.๑ ออสโตรเอเชียติก (Austro Asiatic Languages) หมายถึง เอเชียใต้ อีกชื่อหนึ่ง คือ “มอญ-เขมร” ภาษากลุ่มใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางส่วนในอินเดียและบังกลาเทศ ภาษาดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียตะวันออก ในบรรดาภาษากลุ่มนี้ทั้งหมด ภาษาเวียดนาม ภาษาเขมรและภาษามอญเป็น ภาษาที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุด กลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดแสดงในอาคารสถาบันล้านนาศึกษา คือ ลัวะ (LUA)
๑.๒ ไท – กะได (Tai – Kadai Languages) เป็นตระกูลภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของประเทศจีน กลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดแสดงในอาคารสถาบันล้านนาศึกษา คือ ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทขึน/ไทเขิน ไทยอง ไทยวน และรวมไปถึง ไทดำ/ลาวโซ่ง ไทย ผู้ไท พวน ลาว ลาวแง้ว แสก ลาวครั่ง
๑.๓ จีน – ทิเบต (Sino – Tibetan Language) เป็นตระกูลของภาษาที่รวมภาษาจีนและตระกูลภาษาย่อยทิเบต – พม่า มีจำนวนประมาณ ๒๕๐ ภาษา ส่วนใหญ่เป็นภาษาในเอเชียตะวันออก ภาษาในตระกูลนี้มีลักษณะร่วมกันคือมีเสียงวรรณยุกต์ พบในกลุ่ม จีนฮ่อ กะเหรี่ยง ลีซอ มูเซอ อาข่า อีก้อ
๑.๔ ออสโตรเนเชี่ยน เป็นตระกูลภาษาที่มีผู้พูดกระจายไปทั่วหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก และมีจำนวนน้อยบนผืนแผ่นดินของทวีปเอเชีย เกิดจากการประสมคำว่า Austro แปลว่า ลมใต้ รวมกับภาษากรีก nesos แปลว่า เกาะ เช่น ภาษามาเลย์ ภาษาจาม ภาษามอเก็น (Moken)
๑.๕ ม้ง – เมี่ยน เป็นตระกูลภาษาเล็กๆ ใช้กันทางตอนใต้ของประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้พูดกันในแถบภูเขาสูงตอนใต้ของจีน เช่น มณฑลกุ้ยโจว หูหนาน ยูนนาน เสฉวน กวางสี และมณฑลหูเป่ย ที่เรียกกันว่า “ชาวเขา” พบในกลุ่ม เมี่ยน /เย้า และ ม้ง /แม้ว
๒. ตำนาน
ตำนานน้ำเต้าปุง ตำนานของผู้คนในแถบอาเซียนเล่าถึงตำนานการเกิดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เอาไว้ว่า ในสมัยที่ฟ้ากับดินยังติดต่อกันได้ ผีและคนเที่ยวไปมาหาสู่กัน บนฟากฟ้ามีแถนเป็นใหญ่ บนดินมีขุนคานปลูกบ้านสร้างเมืองในเมืองลุ่ม ในครั้งนั้นแถนได้บอกแก่ขุนคานว่า ให้บอกกล่าวแก่ผู้คนทั้งหลายว่า หากจะทำอะไรต่อดินฟ้าหรือธรรมชาติ ต้องมีการบอกกล่าวแก่แถน และให้ส่งข้าวส่งปลาไปยังเมืองแถนบนฟากฟ้าด้วย
แต่…มาถึงสมัยหนึ่งผู้คนกลับไม่เชื่อฟังแถนและไม่ยอมปฏิบัติตามดังที่แถนเคยสั่งไว้ แม้ว่าแถนจะลงมาเตือนถึงสองครั้งสองครา เพื่อให้มนุษย์กลับไปส่งข้าวปลาให้แถนผู้คนก็ยังไม่นำพา… แถนจึงบันดาลให้เกิดน้ำท่วมเมือง ผู้คนพากันล้มตายฉิบหายหมด เมื่อนั้นขุนคานและผู้เป็นใหญ่รวม ๓ คน รู้ว่าแถนโกรธ จึงพากันต่อแพให้ลอยขึ้นไปหาแถนบนฟ้า บอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆให้แถนฟัง แถนกล่าวว่าสมควรแล้วเพราะมนุษย์ไม่เชื่อฟังตน ขุนคานและผู้เป็นใหญ่ทั้งสามต้องอยู่เฝ้าแถนกระทั่งน้ำลด จึงขอลาแถนลงมายังเมืองลุ่ม แถนให้ควายลงมาด้วย๓ ตัว ขุนทั้ง ๓ ทำนาได้ ๓ ปี ควายก็ตาย แล้วเกิดเครือหมากน้ำเต้า ออกมาจากรูจมูกควายถึง ๓ ลูก มีผู้คนมากมายเกิดออกมาจากผลน้ำเต้านั้นปู่ลางเชิงผู้เป็นหนึ่งในผู้เป็นใหญ่ หยิบเอาเหล็กไปเจาะ เกิดเป็นคนออกมา ๒ กลุ่มคือ ไทยลมและไทยลี ขุนคานจึงนำเหล็กอีกท่อนหนึ่งไปเจาะอีกรูหนึ่งของน้ำเต้า จึงเกิดออกมาเป็นไทเลิง ไทลอ และไทควง คนที่ออกจากรูน้ำเต้าที่ต่างกัน ก็ถือเป็นคนที่ต่างกัน คนที่ออกจากรูเล็กกว่าถือเป็นข้าหรือข่า ส่วนคนที่ออกมาจากรูที่ใหญ่กว่าให้ถือเป็นไทคนทั้งหลายแต่งงานออกลูกหลานมากมาย ทำมาหากินกันมาเนิ่นนานและเริ่มไม่เชื่อฟังผู้ปกครองและแถนเช่นเดิม ผู้เป็นใหญ่แห่งผืนดินทั้งสาม จึงขึ้นไปเฝ้าแถนอีกครั้งหนึ่ง แถนจึงส่งขุนครูและขุนครอง ลงมา แต่ปรากฏว่าทั้งสองกลับไม่สนใจปกครองบ้านเมือง ทำให้ไพร่ฟ้าเป็นทุกข์กันมากยิ่งขึ้น ขุนคานและพรรคพวกต้องกลับไปเฝ้าแถนอีกครั้ง เพื่อให้ขุนครูและขุนครองกลับขึ้นไปยังเมืองแถนจากนั้นแถนจึงส่งขุนบูลม ลงมาที่นาน้อย อ้อยหนู ขุนบูลมสร้างบ้านแปงเมือง มีลูก ๗ คน ส่งไปครองเมืองต่างๆ หลังจากนั้น แถนก็ไม่ให้มนุษย์บนผืนดินขึ้นไปยังเมืองแถนบนฟากฟ้าได้อีก ทำให้ผีและคนไปมาหากันไม่ได้อีกต่อไป….
๓. อัตลักษณ์
จากการรวมรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย ตามหลักการจำแนกด้วยชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า ๖๒ กลุ่ม และหากจำแหนด้วยเกณฑ์ทางด้านภาษาศาสตร์ ตามแนวทางของศูนย์ศึกษาฟื้นฟูทางภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต มหาวิทยาลัยมหิดล มีการกระจายทางภาษา ในตระกูลภาษาต่าง ๆ ๕ ตระกูล มีจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า ๗๐ กลุ่ม