ประเพณีความเชื่อของชาวล้านนา ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า (พระพุทธเจ้า) ประเพณีตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า ทานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า

ประเพณีความเชื่อของชาวล้านนา ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า (พระพุทธเจ้า)

ประเพณีตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า

ทานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า

ในล้านนาสมัยโบราณ มีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก โดยแบ่งเป็น ๓ ช่วง

  • เดือนกรกฎาคม ปลูกข้าว
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือนสาม) การเก็บเกี่ยวข้าว
  • เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ (เดือนสี่ เป็ง ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เป็นวันทานข้าวใหม่

คนจีน จะมีการจัดในเดือนธันวาคม โดยมีการไหว้ขนมบัวลอย  โดยนำข้าวใหม่ มาทำขนม และนำไป
ไหว้บรรพบุรุษ

ทางเหนือ หรือ คนเมืองล้านนา ก็จะจัดทำเพื่อนึกถึงบุพการี  โดยนำข้าวเปลือกมารวมกัน บ้าง ๒ ถัง
บ้าง ๓ ถัง กองรวมกัน  หรือรวมกันในบาตร  คนเมืองเรียกว่า  “ทานข้าวร้อยบาตร”  และเอาข้าวไปสี และน้ำไปทำเป็นข้าวเหนียว และถวายพระในเดือน ๔ เป็ง หรือ เดือนมกราคมของทุกปี  นอกจากนั้นยังนำมาทำเป็นข้าวหลาม ข้าวจี่  ส่วนข้าวเปลือกนำไปขาย เพื่อนำเงินมาบำรุงวัด และถวายวัด   แต่ในยุคปัจจุบันไม่ค่อยมีการทำนา และใช้เครื่องจักรแทนควายแล้ว  มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและเหตุการณ์บ้านเมือง  จึงไม่ค่อยได้เห็นการทานข้าวใหม่

หิง (ผิง) ไฟพระเจ้า

เป็นการก่อไฟหน้าพระเจ้า พระเจ้าก็คือพระประธานในวิหาร จัดทำในเดือนมกราคม  ซึ่งในสมัยนี้
ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการทำนาไม่เป็นฤดู  แต่ที่เห็นยังมีการจัดทำอยู่ คือ ที่อำเภอแม่แจ่ม ในช่วงหน้าหนาวนั้นอากาศหนาวมาก  จะเห็นได้ถึงภูมิปัญญาคนล้านนาและความเชื่อว่า พระเจ้า หรือ พระพุทธรูปมีชีวิต

การจัดงานนั้น เจ้าอาวาสจะประกาศให้ชาวบ้านมีการเตรียมไม้ ซึ่งใช้ไม้คนทา ไม้จี่ ซึ่งตอนนี้หายาก ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไมยราบยักษ์ ซึ่งอยู่ปลายไร่นา  โดยนำมาตัด  แล้วเอามาตากแดด  ซึ่งจะต้องมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ
มีหนาม มีเปลือก มีปล้องโล่ง  โดยเชื่อว่า มีหนาม – ปัญญาเฉียบแหลม  มีเปลือก-ความไม่ดีเอาออกไป ป้องโล่ง-การทำจิตใจให้ว่าง ความว่าง  เป็นนัยยะในการสอนคน  เวลาจุดไฟนั้น จะมีเสียงแตก ทำให้ได้ยินว่าเริ่มพิธีกรรมแล้ว โดยจะมีการจุดไฟสุมไว้หน้าวิหาร  ให้ตรงกับพระเจ้า (พระประธาน)  โดยเจ้าอาวาสจะเป็นคนจุดคนแรก  พระ เณร ในวัด ศรัทธา ชาวบ้าน จะจุดต่อๆ มา นอกจากนี้คนที่มาเข้าร่วมงานก็จะได้มีโอกาสผิงไฟและได้รับความอบอุ่นด้วย

ความรู้สึกของการที่พระเจ้ามีชีวิตนั้น  ในพม่ายังคงมีความเชื่อเรื่องนี้อยู่  จะเห็นได้ว่าในทุกเช้าจะมีการทำความสะอาดหน้าพระเจ้า เหมือนการล้างหน้าให้พระเจ้า  ส่วนในช่วงเวลา ตีสามถึงตีสี่ เอาผ้าไปเช็ดหน้า เอาข้าวน้ำไปถวายพระเจ้าหรือแม้กระทั่งในพิธีกรรม ยังมีถวายปัจจัยให้พระเจ้า (ซองพระพุทธ)  และอีกสิ่งหนึ่งถ้าเราเข้าไปในวิหารจะมีจองนอน (เตียงนอน)  ซึ่งจะเห็นว่าพระเจ้าจะมีความรู้สึก ต้องกิน นอน หนาว จึงได้จัดทำการผิงไฟพระเจ้าขึ้นมา

การหิงไฟพระเจ้า  เป็นกลวิธีในการให้ทานความอบอุ่น  ใช้ไม้คนทา หรือไม้ผักหล่ะ (ผักชะอม)
ไม้เนื้ออ่อน  ยาวหลายวา  เผาพร้อมกับไม้ไผ่  เมื่อโดนความร้อน จะเกิดเสียงแตก เป็นเสียงสัญญาณ เพื่อแจ้งชาวบ้านว่าเริ่มพิธีแล้ว  จะมีการสวดมนต์  เมื่อไฟลุกโชติช่วง เป็นการทานความสว่างไสว  เวลาโยงข้าวใส่บาตร  ให้มีการภาวนา เพื่อเป็นการรักษาศีล  สมาธิ  บางแห่งอาจมีการจัดกิจกรรม ฟังเทศน์มหาชาติ และกวนข้าวมธุปายาต  เพื่อให้คนเข้าร่วมกิจกรรมได้ทานข้าวใหม่  ข้าวจี่  ข้าวหลาม

ภายหลังจากการหิงไฟพระเจ้าแล้ว ในช่วงสายจะมีการทานข้าวใหม่  ซึ่งกลุ่มแม่บ้านในชุมชน
จะแบ่งหน้าที่กัน  พ่อบ้านจะรับผิดชอบทำงานหนัก เช่น การตัดฟืน ผ่าฟืน ก่อกองไฟ หาใบตอง  ส่วนแม่บ้าน จะทำขนม ข้าวต้ม ห่อนึ่ง จะเห็นได้ชัดที่อำเภอแม่แจ่ม  ในทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือน จะมีการห่อนึ่งปลาหลิม (ปลาช่อน)  ซึ่งทำไมต้องเป็นปลาช่อน ตามที่ปรากฏในธรรมนั้น จะเห็นว่าพระโพธิสัตว์พระพุทธเจ้า เมื่อสมัยอดีตชาติเป็น พระญาปลาช่อน ในช่วงหน้าแล้ง  น้ำแห้ง คนทะเลาะกันเพื่อแย่งน้ำ  จนพระพุทธเจ้าต้องมาห้าม  ในเทศนาธรรม ก็เคยมีปรากฏ และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ปลาช่อนนั้นเป็นปลาชนิดเดียวที่ไม่กัดต้นข้าว  ในสมัยพระโพธิสัตว์พระพุทธเจ้า  เกิดเป็นปลาช่อน  ส่วนชาวบ้านนั้นแม้ว่าจะต้องเลี้ยงชีพด้วยการกินสัตว์เล็ก แต่ก็จะดูแลสัตว์เล็กทั้งหลายด้วย มีปรากฏในหลักธรรมเช่นกัน

การทานข้าวใหม่ ในเดือนมกราคม ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมากองรวมกันบนเสื่อ (สาด) ที่ได้ปูไว้
ซึ่ง กองข้าวเปลือก  เรียกว่า ดอยคำ   กองข้าวสาร เรียกว่า ดอยเงิน  ส่วนข้าวเหนียวนั้นจะใส่บาตรพระที่วางเรียงไว้เป็นแถว และมีการเข้าแถวใส่ข้าวเหนียวอย่างเป็นระเบียบ  ส่วนข้าวที่ทำบุญนั้น มีคนมาติดต่อซื้อ ส่วนมากเป็นชาวเขา และนำเงินไปบูรณะปฏิสังขรณ์   หากวันใดฝนตกไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ ก็จะนำข้าวมาหุงมานึ่งกิน  ในส่วนของการแต่งตัวไปวัดนั้น ผู้หญิงก็ใส่ผ้าซิ่นตีนจก  และวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัดในการขึ้นวิหาร คือ ผู้หญิงจะไม่อยู่ใกล้พระ จะเว้นที่ให้ผู้ชายนั่งด้านหน้า แต่การที่ผู้หญิงจะสามารถทำบุญได้ใกล้ชิดศาสนามากที่สุด คือการทอผ้า เช่น ผ้าพิดาน  ผ้ากราบ ผ้าพาด และผ้าหอคัมภีร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้เห็นถึงความสามัคคี ความศรัทธา ความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาของชาวบ้านอีกด้วย หลังจากที่มีการทำบุญเสร็จแล้วนั้น  ชาวบ้านจะนำน้ำไปกรวดที่บ้าน ให้กับเจ้าที่  พระแม่ธรณี และตั้งจิตอธิษฐาน

 

ประเพณีตากธรรม

วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ จะเป็นแหล่งเก็บคัมภีร์โบราณที่ใหญ่ที่สุด  รองลงมาเป็นวัดไหล่หิน จังหวัดลำปาง  ซึ่งมีคัมภีร์ใบลาน อายุกว่า ๕๐๐ ปี ประเพณีตากธรรม เป็นการเอาธรรมใบลานมาตาก  โดยมีชาวบ้านทำผ้าห่อคัมภีร์มาถวายและมีการทำขบวนแห่รอบวิหาร ที่วัดสูงเม่นนั้น จะมีการนำผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน เก็บไว้เป็นอย่างดี  ส่วนวัดทั่วไปนั้นจะมีการนำด้ายสานด้วยไม้  แต่วัดสูงเม่นจะเป็นผ้าลายพิมพ์ ลวดลายต่าง ๆ เอามาห่อธรรมใบลาน บ้างใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย  บางธรรมใบลานก็จะมีไม้บัญชัก

วัดสูงเม่นนั้นจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังของหอธรรม ซึ่งมีการวาดใหม่  ประมาณ ๕-๖ ปีที่ผ่านมา
เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสำรวจคัมภีร์ใบลาน การสร้างธรรม การเช็ดธรรม การทำสายสยอง  การปริวรรต ตลอดจนภาพกิจกรรมการตากธรรมที่เจดีย์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากภาพเก่าโบราณของวัดสบสิขาราม
หลวงพระบาง ในการสำรวจครั้งสำคัญ ปี ค.ศ. ๑๙๘๘ ปรากฏภาพถ่ายการสำรวจของชาวบ้าน ที่สามารถอ่านอักษรล้านนาได้ มีการคัดแยก จดชื่อ ถ่ายไมโครฟิล์ม  และจัดทำทะเบียน

ในพิธีจะมีการแห่ธรรม จัดทำริ้วขบวน  พระสงฆ์นำหน้า ตามด้วยชาวบ้าน ถือด้วยผ้าห่อคัมภีร์ที่ทำขึ้นมาใหม่ และเอาธรรมใบลานขึ้นตากที่เจดีย์ ก่อนจะห่อแล้วเก็บไว้ที่หอธรรม

ในเชิงวิทยาศาสตร์ การเอาธรรมใบลานมาตากแดด จะทำให้ธรรมใบลานแตก  จึงทำให้มีการจัดทำประเพณีนี้ในช่วงหน้าหนาว ข้อความสำคัญที่ปรากฏในล่องน้ำแม่ระมิงค์ ถ้ำกิ่วแล ธรรมในก้นตุง ธรรมที่อยู่ในถ้ำนั้น มีความชื้น น้ำท่วม และวัดอยู่ไกลในป่า (วัดห่างจากชุมชน) เช่น ในจอมทอง จะมีการนำธรรมมาทำ
ความสะอาดปีละครั้ง  เช่น  ปัดฝุ่นบ้าง เช็ดเพื่อป้องกันเชื้อราบ้าง  แต่ที่วัดสูงเม่น จะมีการจัดในรูปแบบประเพณี

หอธรรมกลางน้ำ จะมีในบางวัดซึ่งเป็นอาคารไม้ ด้านล่างเป็นหนองน้ำ และจะเก็บธรรมใบลานไว้ด้านบน  ซึ่งสังเกตว่าหอธรรมแต่ละที่จะไม่มีบันไดขึ้น เป็นอาคารกลางน้ำเฉยๆ ในความเป็นจริงมีบันไดแต่ได้เก็บไว้ เพื่อไม่ให้ใครขึ้นหอธรรมได้  โดยในหอธรรมจะมีตู้ธรรม บางแห่งจะเป็นตู้สมัยใหม่  การเก็บจะมีการห่อผ้าและมัดติดไม้บัญชัก และเอาไว้ในหีด (หีบ) ธรรมอีกที  หอธรรมจะสร้างไว้สูง และไม่มีบันไดหรือสร้างไว้กลางน้ำ  หอธรรมเป็นของสูงต้องเก็บดีๆ  นอกจากมีความจำเป็นถึงจะขึ้นไปค้นหาเอกสารสำคัญ หอธรรมกลางน้ำนั้นจะสามารถลดความร้อน ความอบอ้าว เพื่อยืดอายุของคัมภีร์ใบลาน  และในช่วงหน้าหนาว จะทำให้ใบลานชื้น จึงต้องนำมาตากเหมยตากแดด เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลระหว่างความร้อนกับความเย็น

Loading