ประเพณีทานข้าวใหม่และหลัวหิงไฟพระเจ้า
นับแต่อดีตกาล ชาวล้านนามีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม จนเรียกกันติดปากว่า “เยี๊ยะไร่ ใส่นา” โดยเฉพาะวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวโดยมีความเชื่อมโยงกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๔ เหนือ (ตรงกับเดือน ยี่ ของทางภาคกลาง คือช่วงเดือน มกราคม) อันเป็นฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว แล้วนำผลผลิตไปใส่หลองข้าว(ยุ้งฉาง) โดยความเชื่อแล้วชาวล้านนามักนิยมนำไปทำบุญก่อน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกุศลให้แก่ตนเองและผู้ที่ล่วงลับ จึงเกิดประเพณี “ทานข้าวใหม่” และในวันเดียวกันนี้ก็มีประเพณี “ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า” เพื่อจุดถายเป็นพุทธบูชา และมีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนคลายความหนาวเย็นให้แก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ชาวบ้านที่มาทำบุญ ความหมายทางธรรม คือการให้เผาซึ่งกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นเหตุของความร้อนภายในจิตใจเป็นเหตุให้สร้างอกุศลกรรม มณี พยอมยงค์ กล่าวว่า ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้านั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางภูมิศาสตร์ของภาคเหนือ ซึ่งมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น ด้วยอิทธิพลของป่าไม้ที่หนาทึบ(๒๕๔๘: ๓๐๗) ประเพณีทั้งสองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามคติความเชื่อความศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อพระพุทธศาสนาและเป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
ทานข้าวใหม่
การทานข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านจะนำข้าวใหม่ที่เก็บเกี่ยวแล้วเก็บไว้บนยุ้งฉางที่บ้านมานึ่งให้สุกเพื่อนำมาตักบาตร ทานขันข้าว อุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับและถือเป็นการขอขมาพระแม่โพสพก่อนจะนำมารับประทาน การทานข้าวใหม่ในแต่ละบ้าน หรือแต่ละท้องถิ่นจะมีวิธีการนำข้าวมาถวายแตกต่างกันออกไป เช่น ถวายเป็นข้าวนึ่งสุกบ้าง เป็นข้าวจี่บ้าง หรือข้าวหลาม เป็นต้น แล้วนำมาใส่บาตรถวายพระสงฆ์
ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า
ชาวล้านนาคำว่า “หลัว” หมายถึง “ฟืน” คำว่า “หิงไฟ” หมายถึง “ผิงไฟ” คำว่า “พระเจ้า” ในที่นี้หมายถึง “พระพุทธเจ้า” เมื่อถึงเทศกาลพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้านจะไปหาหลัว(ฟืน) ตามป่าและไม้ที่นิยมนำมาประกอบพิธีทานหลัวหิงไฟพระเจ้าคือ “ไม้ชี่” มีลักษณะเป็นเถาและเนื้อข้างในมีสีขาว ขึ้นอยู่ตามป่า และยังมีไม้อื่นๆ เช่น ไม้โมกมัน ไม้โชค และไม้มะขาม เป็นต้น โดยตัดไม้ยาวท่อนละประมาณ ๑ วา แล้วมัดเป็นมัดๆ นำไปกองรวมกันที่ข่วงวัด(ลานวัด) หรือหน้าวิหาร ตามความเหมาะสมของสถานที่ โดยกองสุมเป็นวงกลม
พิธีการทานหลัวหิงไฟพระเจ้า มัคทายกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะจัดเตรียมพานข้าวตอกดอกไม้ เรียกว่า “ขันนำทาน” และหลัว จำนวน ๑ มัด ถวายพระสงฆ์ โดยไหว้พระรับศีล และกล่าวคำถวาย แล้วประเคนขันนำทานและหลัวหน้าองค์พระประธาน บางแห่งก็ประเคนประธานสงฆ์ พระสงฆให้พรตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น จากนั้นเวลาประมาณใกล้รุ่ง ตี ๔ – ๕ เจ้าอาวาสหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้จุดกองหลัว และตีฆ้อง กองบูชาป่าวประกาสให้ชาวบ้านร่วมอนุโมทนาและเตรียมตัวมาทำบุญที่วัดในเวลารุ่งเช้า
อนุชิต ณ สิงห์ทร นักวิชาการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรม เขียน
บรรณานุกรม
มณี พยอมยงค์. ๒๕๔๗. ประเพณีสิบสองเดือนของล้านนาไทย. เชียงใหม่: หสน. ส.หรัพย์การพิมพ์.
สนั่น ธรรมธิ. ๒๕๕๖. ประเพณีสำคัญล้านนา. เชียงใหม่: สุเทพการพิมพ์.