ราชกกุธภัณฑ์ : เครื่องสูงเทียมยศ
นับแต่ครั้งโบราณกาลเครื่องประกอบพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ที่ขาดไปไม่ได้คือ “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นเจ้าฟ้าราชาธิบดี มักปรากฏให้เห็นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ และพระราชพิธีอื่น ๆ
ทางล้านนา “เครื่องราชราชกกุธภัณฑ์” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เครื่องสูง” บางแห่งเรียกว่า “เครื่องเทียมยศ” มีบทบาทในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ “พิธีสมโภชพระเจ้า หรือ, อบรมสมโภชพระเจ้า, บวชพระเจ้า” หมายถึง การสมโภชองค์พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อเป็นเครื่องแสดงสัญลักษณ์การยกย่องพระพุทธรูปให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ให้พุทธบริษัทกราบไหว้บูชาในพระวิหาร อุโบสถ สถานที่สำคัญต่าง ๆ พิธีกรรมนี้จะนิยมทำในประเพณีปอยหลวง หรือการฉลองเสนาสนะ เช่น พระวิหาร อุโบสถ กุฎิสงฆ์ เป็นต้น “เครื่องราชราชกกุธภัณฑ์” ต้องอยู่คู่กับอาสนาหรือราชบรรจถรณ์ ลักษณะคล้ายกับเตียงนอนมีหลังคาแต่หลังเล็กกว่า จะนิยมวางไว้ข้าง ๆ กับฐานพระพุทธรูป ชาวล้านนาเรียกว่า “แท่นแก้ว” นอกจากนี้ยังใช้กับพิธีศพของพระมหาเถระอีกด้วย
“เครื่องราชราชกกุธภัณฑ์” แบบล้านนาจะมีตั้งแต่ ๓ – ๘ ชิ้น มีลักษณะที่แตกต่างกันไป ในบทความนี้ผู้เขียนจะแสดงไว้ ๖ ชิ้น ดังนี้
- ฉัตร หรือ ฉัตต์ มีลักษณะรูปทรงคล้ายร่มนิยมทำเพียงชั้นเดียว ใช้ไม้แกะสลักให้เป็นรูปทรงกลมมน มียอดปลายแหลม บางแห่งเป็นลักษณะของ “กุบระแอ” หมายถึง หมวกยอดแหลม
- จาวมร หรือ แส้จามรี มักทำเป็นรูปหัวนาคอ้าปาก มีพู่แส้ย้อยออกจากปาก
- บังวัน หรือ บังสูรย์ เป็นแผ่นใหญ่กว่าบังแทรก มีรูปร่างคล้ายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ คือคล้ายดอกบัว
- บังแทรก มีลักษณะคล้ายพัด ลักษณะแบบกลม ยอดแหลม
- ไม้เท้าไม้วา หรือ ธารพระกร บางแห่งเป็นไม้คทา กระบอง มีลักษณะเป็นรูปทรงของไม้กลึง ๔ – ๖ เหลี่ยม ปลายมนแหลมยาวประมาณ ๑ วา
- พัดค้าว หรือ พัดโบก มีลักษณะเป็นรูปหัวนาคคายพัด ปลายแหลมปลายงอนอ่อนช้อย
สำหรับเครื่อง “เครื่องราชราชกกุธภัณฑ์” ของล้านนา บางชิ้นจะไม่เหมือนกับทางภาคกลาง และอาจเรียกชื่อต่างกันไปบ้าง การกำหนดจำนวนชิ้นรวมถึงการสร้างงานแต่ละชิ้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ไม่สามารถกำหนดได้ ไม่ว่าจะเรียกกันอย่างไร “เครื่องสูงเทียมยศ” ก็ยังมีบทบาทในพิธีกรรมของชาวล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงออกถึงความเคารพศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้าและคติธรรมทางพระพุทธศาสนา สอดคล้องอยู่ในวิถีชีวิต แสดงถึงภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ และสืบทอดมาอย่างยาวนาน
อนุชิต ณ สิงห์ทร เขียน/ภาพ