นิทรรศการห้องพุทธศาสนา เครื่องสักการะล้านนา
พัฒนาการ จุดกำเนิดเครื่องสักการะ
ความเชื่อก่อนพุทธกาล เป็นความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้า สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวอินเดียก่อนพุทธกาล คือการอ้อนวอน บูชา เซ่นสรวง บูชายัญ คิดแต่จะร้องขอ อ้อนวอน รอคอยเทพเจ้าให้ดลบันดาลในสิ่งต่าง ๆ
ความเชื่อสมัยพุทธกาล ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ การมองแบบธรรมชาติให้พิจารณาตามหลักเหตุและผล และการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง สมัยอดีตพุทธศาสนิกชน ยังไม่ทราบวิธีการจัดทำพุทธบูชา จะเห็นได้จากนำดอกไม้ ไปบูชาต้นไม้ใหญ่ หรือบางครั้งก็นำดอกไม้ไปบูชาก้อนหินเป็นต้น เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เหล่าพุทธศาสนิกชน จึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ของหอมเข้าไปนมัสการบูชาพระพุทธเจ้า ต่อมาจึงได้คิดสร้างสิ่งของเครื่องใช้ในทางพระพุทธศาสนาที่อยู่ในธรรมชาติ ใช้ได้นาน คงทน เช่น ไม้ไผ่ สร้างเป็นอาสนะสงฆ์ (ที่นั่งพระสงฆ์) กุฎิสงฆ์ (ที่พัก) ต่อมาได้นำคติความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยง ผสมผสาน เช่น สัตตภัณฑ์ (เชิงเทียน) คือ การบูชาเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุทั้ง ๗ อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยในสมัยก่อนได้สร้างขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่สร้างสรรค์ด้วยแรงศรัทธา ต่อมาได้มีการพัฒนาโดยการนำภูมิปัญญาที่สะสมมายาวนานถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น การสร้างสรรค์เครื่องสักการะจึงมีรูปแบบ วัตถุประสงค์ในการสร้างชัดเจนมากขึ้น ประณีตขึ้น จะพบเห็นได้จากการใช้วัสดุที่คงทน มีการใช้สี เขียนลายเส้น มีการเขียนลวดลาย ลงรักปิดทอง หรือเขียนรูปภาพที่แฝงด้วยคติทางศาสนา เช่น ภาพนกหัสดีลิงค์ และมีการจัดวาง เพื่อให้การความสวยงาม ความมีมนต์เสน่ห์ เพื่อให้เกิดมีมูลค่า และเกิดความศรัทธายิ่งขึ้น
ประเภทของเครื่องสักการะ
๑. เครื่องสักการะพระรัตนตรัย เช่น สัตตภัณฑ์ โคม บันไดแก้ว-เงิน-ทองคำ สุ่มดอกผางปะตี๊ด ต้นเทียน ต้นผึ้ง หมากเบ็ง และขัน (พาน) ซึ่งจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปสำหรับงานพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
๒. เครื่องสักการะพระพุทธ เช่น อาสนา สาดบ่าง หมอนผา คาเขียว ขี้ผึ้งติดตาพระเจ้า เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (เครื่องสูง) แว่นสายตาพระเจ้า เป็นต้น
๓. เครื่องสักการะธรรม เช่น ธรรมมาสน์ ค้างธรรม หีบธรรม คัมภีร์ธรรม เหล็กจาร ไม้ประกับผ้าห่อคัมภีร์ เป็นต้น
๔. เครื่องสักการะพระสงฆ์ เช่น อาสนะสงฆ์ เครื่องอัฐบริขารเป็นต้น
๕. เครื่องสักการะในงานประเพณีต่างๆ เช่น งานเทศน์มหาชาติ งานปอยหลวง เป็นต้น
๖. เครื่องสักการะเนื่องในปัจจัย ๔ เช่น ประเภทผ้า ประเภทฝ้ายและด้าย ประเภทธุง (ตุง) ช่อ ประเภทข้าวและอาหาร ประเภทยา เป็นต้น
เครื่องสักการะ
สิ่งของเครื่องใช้ในพิธีกรรม พิธีการ หรือเครื่องสักการะทั้งหลายนี้ถือเป็นเครื่องมือแห่งอามิสบูชา อันเป็นต้นกำเนิดแห่งความเลื่อมใส เป็นเครื่องสร้างกำลังใจให้พุทธศาสนิกชนมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อการนับถือพระพุทธศาสนา และนำเข้าสู่การปฏิบัติบูชาในภายหลัง อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงเรื่องราวที่โยงกับวิถีชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะชาวล้านนา ซึ่งเป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาที่มีประเพณี พิธีกรรมห่อหุ้มไว้ ทำให้ชาวล้านนายึดมั่นในครองธรรมที่ดีงามของสังคม เป็นสิ่งที่สื่อบ่งบอกถึงความงามทางศิลปะและจริยธรรมในชุมชน สังคม อันเป็นเครื่องแสดงถึงอารยะธรรมที่ฝังอยู่อย่างแนบแน่นในหัวใจของชาวล้านนาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน