นิทรรศการเครื่องดนตรีล้านนา

นิทรรศการเครื่องดนตรีล้านนา

การจัดแสดงเครื่องดนตรีล้านนาควรจัดแสดงในแบบวงดนตรีล้านนา ดีกว่าการจัดแสดงเป็นชิ้นซึ่งจะเป็นการทำให้เห็นถึงวิธีการบรรเลงเมื่อมีการประสมวงรวมทั้งการจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการและสื่ออิเล็กโทรนิกส์ ได้จัดแบ่งประเภทของวงดนตรีล้านนา จากสิ่งของที่สถาบันล้านนามีอยู่ ดังนี้

๑. วงสะล้อ ประกอบด้วย ซึงหลวง(ซึงใหญ่) ซึงกลาง ซึงหน้อย(ซึงเล็ก)  สะล้อหลวง(สะล้อใหญ่) สะล้อกลาง สะล้อหน้อย(สะล้อเล็ก) ขลุ่ย ๑ เลา กลองโป่งป้ง  ฉาบหน้อย ๑ สว่า (ฉาบใหญ่) และแสว่ (ฉาบเล็ก) การบรรเลงวงสะล้อซึง ใช้ประกอบการร้องซอ การฟ้อนพื้นเมือง เช่น ระบำซอ ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น รวมทั้งยังนิยมบรรเลงเพลงพื้นเมืองล้วน ๆ โดยไม่มีการร้องประกอบ เพลงที่นิยมได้แก่ ปราสาทไหว ฤาษีหลงถ้ำ ล่องแม่ปิง เป็นต้น

๒. วงป๊าด (วงปี่พาทย์พื้นเมือง) ประกอบด้วย  ป๊าดเอก (ระนาดเอก)  ป๊าดทุ้ม (ระนาดทุ้ม) ป๊าดเหล็ก (ระนาดเอกเหล็ก)  ป๊าดก๊อง (ฆ้องวง) กลองเต่งถิ้ง กลองโป่งป้ง  แนหลวง (ปี่ใหญ่)  แนหน้อย (ปี่เล็ก) สิ้ง ฉิ่ง สว่า (ฉาบใหญ่) และแสว่ (ฉาบเล็ก)  วงกลองเต่งถิ้งใช้บรรเลงทั้งในงานมงคงและอวมงคล บรรเลงในงานมงคล เช่น บวชนาค เทศน์มหาชาติ ปอยหลวง แห่ครัวตาน ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานรื่นเริง เช่น จุดบอกไฟ บรรเลงในงานอวมงคล เช่นในงานพิธีศพ สามารถใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนผีมด ผีเม็ง งานฟ้อนผีเจ้านาย และประกอบการชกมวย หรือการต่อสู้แบบล้านนา

๓. วงตึ่งโนง ประกอบด้วยกลองแอว   กลองตะหล๊ดปด  สว่า (ฉาบใหญ่)  แนหน้อย (ปี่เล็ก) แนหลวง (ปี่ใหญ่) ก๊องอุย (ฆ้องใหญ่) และก๊องโหย้ง (ฆ้องเล็ก) วงกลองตึ่งโนงใช้ตีประกอบการฟ้อน งานฉลองของวัด เช่น งานปอยหลวงประกอบการฟ้อนต่าง ๆ เข้ากระบวนแห่ เช่น แห่พระพุทธรูป ใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนเล็บ ใช้ประสมในวงเครื่องประโคม ใช้บรรเลงแห่ ซึ่งมักจะเรียกการประโคมแห่นี้ว่า “แห่ฆ้องแห่กลอง” เช่น การแห่ครัวทาน หรืองานแห่อื่น ๆ ที่ต้องการความโอ่อ่าอลังการ และใช้เป็นสัญญาณบอกกล่าวก่อนถึงงานเทศกาล เป็นเทศกาลเดือนยี่เป็ง เข้าพรรษา สงกรานต์ เป็นต้น

๔. วงสิ้งหม้อง ประกอบด้วยกลองสิ้งหม้อง  จำนวน ๕ ใบ แนหน้อย (ปี่เล็ก)  แสว่ (ฉาบเล็ก) และ
ก๊องหน้อย (ฆ้องเล็ก)  ใช้ตีประกอบการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ และใช้ตีในขบวนแห่โดยทั่วไป

๕. วงถิ้งบ้อม  ประกอบด้วยกลองสิ้งหม้อง จำนวน ๕ ใบ แนหน้อย (ปี่เล็ก) แสว่ (ฉาบเล็ก) ก๊องหน้อย (ฆ้องเล็ก) และกลองทั่ง ใช้ตีในขบวนแห่ลูกแก้ว (นาคสามเณร) ใช้ตีประกอบการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ และตีในขบวนแห่โดยทั่วไป

๖. วงกลองสะบัดชัย  ประกอบด้วยกลองสะบัดชัย แสว่ (ฉาบเล็ก)  และก๊องหน้อย (ฆ้องเล็ก)  วงกลองสะบัดชัยมักนิยมบรรเลงในงานมหรสพเพื่อความสนุกสนาน ในสมัยโบราณใช้ตีบอกสัญญาณ ในการโจมตีข้าศึก และการฉลองชัยชนะ

๗. วงกลองปู่เจ่  ประกอบด้วย  กลองปู่เจ่ สว่า (ฉาบใหญ่)  จำนวน ๑ ชิ้น  ก๊องหน้อย (ฆ้องเล็ก)  จำนวน ๖ ชิ้น  วงกลองปู่เจ่ใช้บรรเลงแห่ปิดขบวนพยุหยาตรา แห่ปิดท้ายกระบวนแห่ครัวตาน แห่บอกไฟ แห่ประจำเครื่องไทยธรรม บรรเลงประกอบการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ เต้นโต ฟ้อนนางนก เป็นต้น

๘. วงกลองมองเซิง  ประกอบด้วย กลองมองเซิง แสว่ (ฉาบเล็ก)  สว่า (ฉาบใหญ่)   สิ้ง (ฉิ่ง)  ก๊องอุย (ฆ้องใหญ่)  ก๊องโหย้ง (ฆ้องเล็ก) และก๊องหน้อย (ฆ้องเล็ก)  จำนวน ๒ ชิ้น วงกลองมองเซิงใช้ประโคมในงานบุญต่าง ๆ เช่น งานแห่จองพารา แห่นาคสามเณรที่ล้านนาเรียก “ลูกแก้ว” ไทใหญ่เรียกว่า “ส่างลอง” ขบวนแห่ครัวทาน และประกอบการฟ้อนพื้นเมือง โดยทั่วไป วัฒนธรรมการตีกลองมองเซิงจะพบในกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ไทยวน ไทเขิน และไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนา ส่วนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบันจะพบบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และแม่ฮ่องสอน

๙. วงกลองจัยยะมงคล ประกอบด้วย กลองจัยยะมงคล  ลูกตุบ ๓ อยู่ขวามือ ไม้แสะ (ไม้แจ่ม)  สว่า (ฉาบใหญ่)  ก๊องอุย (ฆ้องใหญ่)  ก๊องโหย้ง (ฆ้องเล็ก) และก๊องหน้อย (ฆ้องเล็ก)  กลองจัยยะมงคลใช้ตีในงานบุญทางพุทธศาสนา และมีการสืบทอดแพร่หลายอยู่ตามวัดต่างๆ เช่น วัดสวนดอก วัดศรีประดิษฐ์ วัดกิ่วแล วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) วัดท่าทุ่ม เป็นต้น ใช้ในการตีบอกเป็นอาณัติสัญญาณ  เช่นการประชุม มีเหตุร้ายเกิด เป็นต้น ใช้ตีในการออกทำศึกสงครามเพื่อให้ขวัญกำลังใจแก่ทหาร และใช้ตีเป็นพุทธบูชา  ก่อนวันพระ หรือในวันพระ  หรืองานทำบุญ เช่น สลากภัต เป็นต้น

๑๐. วงกลองปูจา (กลองบูชา)  ประกอบด้วย กลองบูชา   ลูกตุบ ๓ อยู่ซ้ายมือ  ไม้แสะ (ไม้แจ่ม)  สว่า (ฉาบใหญ่)  ก๊องหน้อย (ฆ้องเล็ก) ก๊องอุย (ฆ้องใหญ่) และก๊องโหย้ง (ฆ้องเล็ก)

บทบาทเชิงสัญญาณ

กลองปูจาใช้เป็นสัญญาณตีบอกเหตุให้มวลชนในหมู่บ้านได้ทราบ ใช้เป็นสัญญาณนัดหมายการประชุม นัดหมายเข้าขบวนเคลื่อนครัวทาน

บทบาทเชิงวัฒนธรรม

ในวันพระ การตีกลองปูจาเป็นระยะ ๆ นั้น ชาวบ้านที่ไม่ได้ร่วมทำบุญ ถือศีล ฟังเทศน์ จะทราบถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่วัดได้ แม้ไม่ได้ไปที่วัดก็ยังจะพอยกมือสาธุได้เมื่อได้ยินเสียงกลองปูจาตีในตอนบ่ายหรือตอนเย็นเวลาทำวัตร ใช้ตีเป็นกลองไชย เป็นการฉลองไชย ฉลองความสำเร็จ หรือเท่ากับแสดงความยินดี เมื่อมีอาคันตุกะมาเยี่ยม เช่น ขบวนแห่ผ้าป่า ขบวนกฐิน ขบวนครัวทาน และยังใช้เป็นสัญญาณของการทำบุญจะตีประมาณเวลา ๒ – ๓ ทุ่ม ในคืนก่อนวันพระ เพื่อเป็นสัญญาณให้ศรัทธาชาวบ้านได้ทราบว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันพระแล้ว ดังนั้นการเตรียมตัวหรือการเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตนให้งดเว้นจากอบายมุข การเบียดเบียนสัตว์ การใช้แรงงานสัตว์ กระทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

๑๑. วงสะล้อซอปิน  (ซอเมืองน่าน) ประกอบด้วย สะล้อก๊อป (สะล้อเมืองน่าน) และ ปิน (ซึง)

วงซอล่องน่านใช้บรรเลงประกอบการซอ สามารถใช้เป็นสื่อพื้นบ้าน เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อชนิดอื่น ๆ เพราะเข้าถึงคนในท้องถิ่นได้ดีกว่า สามารถบอกให้คนในท้องถิ่นรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และสามารถชี้แจงรายละเอียด ยกตัวอย่างให้คนฟังเข้าใจมากยิ่งขึ้น ใช้บรรเลงในงานบุญ ประเพณีของชาวล้านนา เพื่อขับกล่อมให้เกิดความบันเทิง เช่น งานบวชนาค ปอยข้าวสังข์ ปอยหลวง งานขึ้นบ้านใหม่ งานฉลอง งานบุญต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในงานมงคล

๑๒. วงปี่จุม ประกอบด้วย ปี่จุมสาม / ปี่จุมสี่  (ปี่จุมจำนวน ¾  เล่ม ใหญ่ กลาง เล็ก)  ซึงหลวง (ซึงใหญ่)  ถ้าเป็นปี่จุมห้า จะไม่มีซึงหลวง

วงปี่จุมเป็นวงที่ใช้ประกอบในการซอของชาวล้านนาโดยเฉพาะการ “ซอเข้าปี่” ซึ่งเป็นที่นิยมกันในแถบจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพะเยา นอกจากจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความบันเทิงแล้วยังเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมความเชื่อ เช่น งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ และงานมงคลต่าง ๆ เป็นต้น

Loading