ต้นลาน

ลาน (Palm leave, Fan Palm, Talipot Palm) เป็นพืชยืนต้นตระกูลปาล์ม มีลักษณะคล้ายต้นตาลแต่ลำต้นมีลักษณะอวบใหญ่กว่าต้นตาล ใบเป็นรูปพัดสีเขียวอมเทา ก้านใบมีหนามแหลมคล้ายฟันเลื่อย ต้นลานมีอายุเฉลี่ย 60 – 70 จากนั้นจะออกดอก ช่อดอกมีขนาดใหญ่และมีดอกเป็นจำนวนมาก ผลกลมสีเขียวมะกอกอมเทา ระยะออกดอกจนถึงผลสุกใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้น ต้นลานจะยืนต้นตายจึงเกิดเป็นคำเรียกพืชชนิดนี้ว่า “ต้นลูกฆ่าแม่” เนื้อในผลลานสามารถนำมารับประทานได้ ส่วนใบลานสามารถนำมาจารอักษร และนำไปจักสานเป็นเครื่องใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น พัด หมวก กล่องใส่ข้าว ปลาตะเพียน ตาลปัตร เป็นต้น ในประเทศไทยพบลานจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ลานป่า ลานป่าพรุ และลานวัด หรือ ลานบ้าน

ค้นหา

ฐานข้อมูลการสำรวจต้นลานและพันธุ์ไม้ท้องถิ่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

ตามแผนแม่บทระยะ 5 ปี (2564 – 2569) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (โครงการ อพ.สธ.) สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับผิดชอบในส่วนของการเป็นสถานีเรียนรู้และฝึกอบรมการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชซึ่งเป็นกิจกรรมตามแผนการดำเนินงาน อพ.สธ. กรอบการสร้างจิตสำนึก (กรอบ F3) กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร (กิจกรรม A7)

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีเป้าหมายในการอนุรักษ์สืบสาน ทำนุบำรุงและการต่อยอดองค์ความรู้จากต้นลานและพันธุ์ไม้พื้นเมืองหายากในล้านนา โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนฐานข้อมูลต้นลาน ในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องด้วยต้นลานในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มยังพบได้ทั่วไป ที่สำคัญชาวบ้านได้นำส่วนต่าง ๆ ของต้นลานมาใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตโดยผ่านกระบวนการทางภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่น การใช้ใบลานจารธรรม การนำมาสานเป็นเข้าของเครื่องใช้ การนำลูกลานมาบริโภค การนำต้นลานที่ตายมาทำเป็นโกร๋นเผิ้ง (รังสำหรับเลี้ยงผึ้ง) เป็นต้น สำหรับประเทศไทยในอดีตมีการปลูกต้นลานทุกพื้นที่เพื่อตอบสนองการนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมา แต่ในปัจจุบันพบว่าต้นลานได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ต้นลานจึงมีโอกาสที่จะสูญพันธ์ุไปจากแผ่นดินไทยอีกในไม่ช้า อีกทั้งประกอบกับสภาวะอากาศในปัจจุบัน ทำให้ต้นลานออกดอกและยืนต้นตายในหลายพื้นที่ จากปัญหาและความสำคัญดังกล่าว สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงได้ทำการสำรวจและจัดทำข้อมูลทางสถิติของต้นลาน และการสร้างระบบฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังและชุมชนได้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญ มองเห็นคุณค่า และประโยชน์ของต้นลานที่มีต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่อดีต รวมถึงส่งเสริมให้มีการวิเคราะห์สภาพปัญหาทางระบบนิเวศน์ของต้นลาน และอนุรักษ์ต้นลานให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป

วัตถุประสงค์โครงการ

  1. เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
  2. เพื่อให้คนไทยเกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่า ประโยชน์ และการอนุรักษ์ต้นลานและพันธุ์ไม้ท้องถิ่น
  3. เพื่อเก็บข้อมูลสถิติของต้นลานในประเทศไทย และจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลดิจิทัล
  4. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สืบค้นข้อมูลต้นลานและพันธุ์ไม้ท้องถิ่น